ช่องเปิดขนาดใหญ่ในหอพักพยาบาลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตรา ‘อุณาโลมแดง’ และถูกออกแบบด้วยวัสดุ ไม้เทียม รุ่น HLY series และ รุ่น F series จาก TREE CONCEPT เพื่อสร้างบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติและความรู้สึกที่อบอุ่นให้แก่พื้นที่พักอาศัยอันเปรียบเสมือนบ้านของบุคลากรทางการแพทย์ทุกๆ คน
TEXT: PICHAPOHN SINGNIMITTRAKUL
PHOTO COURTESY OF POLYMER MASTER CO., LTD.
ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะได้เห็นอาคารในส่วนราชการถูกออกแบบอย่างน่าสนใจและมีรูปลักษณ์แปลกตาไปจากอาคารในส่วนราชการแห่งอื่นๆ อย่างอาคารหอพักพยาบาลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นอาคารที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่อมอบคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ภายใต้แนวความคิดของทีมสถาปนิกจาก Plan Architect ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของภาวะอยู่สบาย การจัดการลมและการถ่ายเทอากาศ รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับผู้อยู่อาศัยภายในอาคาร โดยเริ่มจากการศึกษาข้อมูลของผู้ใช้งานจริง พื้นที่รื้อถอนอาคารเดิม และการวางผังบริเวณโดยรอบ สำหรับเพิ่มพื้นที่สีเขียวควบคู่ไปกับการวางผังให้เหมาะกับทิศทางของแสงและลม
หากมองจากตรงนี้จะพบว่าแนวคิดหลักของโครงการ คือการนำลมธรรมชาติเข้าสู่ตัวอาคาร และทำให้เกิดการไหลเวียนของอากาศภายในอาคารได้มากที่สุด โดยเฉพาะช่องเปิดขนาดใหญ่กลางตัวอาคาร ที่ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เสมือนหน้าต่างบานใหญ่ให้ลมถ่ายเทเข้าไปยังพื้นที่ภายในจากโถงด้านล่างสู่พื้นที่อาคารด้านบน แต่ยังเปรียบเป็นสัญลักษณ์สำคัญของอาคารที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตรา ‘อุณาโลมแดง’ ของสภากาชาดไทย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยสร้างคุณค่าผูกโยงให้อาคารมีความหมายทางจิตใจมากกว่าเป็นเพียงอาคารพักอาศัย โดยช่องเปิดขนาดใหญ่ส่วนนี้ยังถูกออกแบบด้วยวัสดุ ไม้เทียม รุ่น HLY series และ รุ่น F series จาก TREE CONCEPT ซึ่งมีสีสันและลายเสี้ยนของไม้ที่สวยงาม ช่วยเพิ่มบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติและความรู้สึกที่อบอุ่นให้แก่พื้นที่พักอาศัยที่เปรียบเสมือนบ้านของบุคลากรทางการแพทย์ทุกๆ คน ที่พักอาศัยอยู่ภายในหอพักพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แห่งนี้